มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อกำเนิดมาจากนโยบายการขยายการศึกษาด้านการเกษตรไปยังส่วนภูมิภาค โดยก่อกำเนิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่งถือเป็นสถานศึกษาด้านการเกษตรแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาถึง 86 ปี (ณ วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖3) ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เป็นส่วนสำคัญในการสืบสานภูมิปัญญาด้านการเกษตร รวมถึง การพัฒนาศาสตร์ด้านการเกษตรของประเทศ เพื่อเป็นที่พึ่งของชุมชน และเกษตรกรไทย จนทำให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในความเชี่ยวชาญสาขาเกษตรกรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็น “นักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาและทันต่อการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการจัดการเรียนการสอนครอบคลุมสาขาเกษตรหลากหลายสาขาวิชา ทั้งด้านพืช และสัตว์ รวมถึง สาขาวิชาที่นอกเหนือจากสาขาเกษตรกรรมด้วย โดยมีการเปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก นับจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่พ.ศ. 2477 ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตให้กลับไปช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศ
จากการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีความชัดเจนในการผลิตบัณฑิต และเพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการเปิดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมสาขาที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ- เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงมีพระปณิธานให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อจัดการเรียนการสอน งานวิจัย และการบริการวิชาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาขาอาชีพขาดแคลนของประเทศไทย ภายใต้ความเป็นอัตลักษณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะเป็นนักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาและทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดรับกับเป็นการผลิตสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อเข้ามาทำงานดูแลรักษาช่วยเหลือสัตว์ปศุสัตว์ สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยงให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป รวมถึง เป็นบัณฑิตสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอล สังคมออนไลน์ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในสายวิชาชีพของตนเอง และเป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ รวมถึง การมีส่วนในการช่วยเหลือสังคม การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัด และที่สำคัญ คือ การมีส่วนเข้ามาทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า และทำงานช่วยเหลือดูแลรักษาสัตว์ของศูนย์พักพิงสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการฯ ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป อีกทั้ง สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้อนุญาตให้มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ดินของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมใช้ก่อสร้างกลุ่มอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 20 ไร่ และอีก 15 ไร่ เพื่อเตรียมใช้ก่อสร้างอาคารคลินิกรักษาสัตว์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เรียบร้อยแล้ว
จากจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการเป็นมหาวิทยาลัยด้านการเกษตร ใกล้ชิดกับเกษตรกร และมุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นนักปฏิบัติรับใช้ชุมชนมานานกว่า 85 ปี ประกอบกับสถานการณ์ความขาดแคลนของสัตวแพทย์ในประเทศไทยที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงต้องการมีส่วนในการผลิตกำลังคนด้านสัตวแพทย์ ที่เป็นนักปฏิบัติ โดยเฉพาะสัตวแพทย์ด้านปศุสัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สัตว์ใหญ่ รวมทั้ง การดูแลสัตว์ป่า สัตว์น้ำ และสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยพระองค์ทรงมีคำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ ๒/๒๕๖๑ สั่ง ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง เพิ่มเติมองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการด้านการจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ โดยแต่งตั้งผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ลำดับที่ ๘) และ คณบดี คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ลำดับที่ ๙) เข้าเป็นคณะอนุกรรมการด้านการจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ ๒ ร่วมขับเคลื่อนสนองพระปณิธานฯ ในโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ดังนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขึ้น
นอกจากนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมร่วมให้บริการดูแลด้านสุขภาพสัตว์ร่วมกับการขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์พักพิงสัตว์จังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมด้านสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตปศุสัตว์ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ รวมทั้งการดูแลสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงของประชาชนต่อไป
- ความสอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาของประเทศ
จากการศึกษาสถานการณ์ภายนอก และสถานการณ์ภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับด้านปศุสัตว์ พบว่า
1.1. สถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
จากการประชุมองค์การสุขภาพสัตว์โลกด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์ ครั้งที่ 4 (4th OIE Global Conference on Veterinary Education) ดร.โมนิกค์ เอลัว ผู้อำนวยการใหญ่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้กล่าวถึงกระแสการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชากรโลกว่า กำลังให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องสารตกค้าง การปนเปื้อนของเชื้อโรคและโรคอุบัติใหม่ หรือโรคจากสัตว์สู่คน ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพของสัตวแพทย์บริการจึงเป็นเรื่องสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้การผลิตสัตวแพทย์ในประเทศไทยจะได้มาตรฐานสากลแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์ที่องค์การสุขภาพสัตว์โลกกำหนดไว้คือ ยังมีจำนวนสัตวแพทย์บริการไม่เพียงพอและไม่ครบทุกอำเภอ ซึ่งประเทศไทยปัจจุบันมีสัตวแพทย์ประจำเพียงในระดับจังหวัดเท่านั้น โรงฆ่าสัตว์หลายแห่งทั่วประเทศยังไม่มีสัตวแพทย์ดูแล ก่อให้เกิดปัญหาโรงฆ่าสัตว์เถื่อน เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข มิฉะนั้น ในอนาคตปัญหานี้อาจจะกลายเป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าปศุสัตว์จากไทย เหมือนกรณีไอยูยูก็เป็นได้ (ไทยรัฐออนไลน์, วันที่ 27 มิถุนายน 2559)
อุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่มีแหล่งมาจากสัตว์มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สัตวแพทย์มีความสำคัญอย่างมากในการควบคุมคุณภาพห่วงโซ่การผลิตอาหารที่มีแหล่งมาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นต้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าทางการเกษตร และความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคที่ยั่งยืน ทั้งนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยแบบไร้ขีดจำกัดในการส่งออกสินค้าทางการเกษตรจากสัตว์สู่สากล
1.2 สถานการณ์หรือการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม
สถานการณ์ความขาดแคลนของอาชีพสัตวแพทย์ ซึ่งศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ ได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศไทยพบปัญหาการขาดแคลนสัตวแพทย์ด้านการปศุสัตว์ หรือ สัตวแพทย์ที่ต้องดูแลสัตว์ใหญ่ เช่น ควาย วัว สุกร ม้า เป็นต้น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ หรือกลุ่มธุรกิจทำฟาร์ม จะขาดแคลนสัตวแพทย์ดูแลสัตว์ใหญ่ แม้จะมีนิสิตนักศึกษาเข้าเรียนสัตวแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะดูแลสัตว์เล็ก เช่น สุนัข แมว และเปิดคลินิกของตนเอง หรือทำงานโรงพยาบาลสัตว์ในตัวเมืองมากกว่า เพราะการดูแลสัตว์เล็กง่าย สบายกว่า เงินดีกว่า อีกทั้งกลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์เล็กก็มีจำนวนมาก รวมถึงการทำงานในส่วนปศุสัตว์ ส่วนใหญ่ต้องออกนอกพื้นที่ เป็นงานที่เหนื่อยและหนัก ทำให้นักศึกษาไม่เลือกเรียน ขณะนี้มีนิสิตสัตวแพทย์เลือกเรียนปศุสัตว์เพียง 10 - 20% เท่านั้น และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ จะทำให้อนาคตประเทศไทยขาดแคลนสัตวแพทย์ปศุสัตว์มากขึ้น ทั้งที่สัตว์ใหญ่มีความจำเป็นทั้งด้านความเป็นอยู่ อาหาร และด้านเศรษฐกิจของประเทศ” (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, วันที่ 6 พฤษภาคม 2558)
นอกจากนี้ได้มีการศึกษาการคาดการณ์กำลังคนทางด้านอาชีพสัตวแพทย์ ปี พ.ศ. 2568 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุกลรัตน์ บุณยยาตรา และคณะ (2561) ได้ผลการสรุปและวิเคราะห์ว่า “สัตวแพทย์ในหน่วยงาน ราชการมีการขาดแคลนสูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาโดยทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2532 ที่ได้คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2547 กรมปศุสัตว์จะมีความต้องการสัตวแพทย์ถึง 1,500 ตำแหน่ง ในขณะที่ล่าสุด ปี พ.ศ. 2558 กรมปศุสัตว์มีสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่เพียง 823 คน หรือเพียงประมาณร้อยละ 50 ของความต้องการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และยังสอดคล้องกับผลการประเมิน Performance of Veterinary Services (PVS) เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยองค์กร World Organization for Animal Health (OIE) ซึ่งมีผลการประเมินว่า ประเทศไทยมีการขาดแคลนกำลังคนด้านสัตวแพทย์ ที่ทำงานด้านปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอำเภอ และโรงฆ่าสัตว์ แม้กรมปศุสัตว์จะมีแผนการเพิ่มการรับสัตวแพทย์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงพบว่าการเพิ่มขึ้นของสัตวแพทย์ในกรมปศุสัตว์จะเพิ่มขึ้นจาก 823 คน ในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นอีก 837 คนใน 10 ปีข้างหน้าเป็น 1,660 คน ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเกษตรและการปศุสัตว์ และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในอีก 10 ปีข้างหน้า แผนการเพิ่มการรับสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์จึงยังน่าจะเพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทย นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลสัตวแพทย์ปศุสัตว์ในส่วนของบริษัทเอกชน พบว่ายังมีความต้องการสูง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลของรายงานหลายฉบับที่ได้สรุปว่า สัตวแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารนั้นมีการขาดแคลนทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก” (วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2561) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเร่งรัดผลิตบัณฑิตสัตวแพทย์ให้เพิ่มมากขึ้น (อย่างเร่งด่วน) โดยเฉพาะในภาคปศุสัตว์ ภาคการเกษตร และเพื่อบริการสังคมโดยรวม
จากที่กล่าวมีข้างต้นนี้ สัตวแพทย์จึงนับได้ว่ายังเป็นอาชีพที่ขาดแคลน เนื่องจาก จำนวนรับนักเรียนที่เข้าเรียนต่อด้านสัตวแพทย์ในจำนวนจำกัด ประกอบกับ คนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มให้ความสนใจเลือกศึกษาต่อด้านสัตวแพทย์ไม่มากเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะความเข้าใจเพียงมุมมองแคบว่า สัตวแพทย์มีหน้าที่รักษาสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความต้องการผู้จบการศึกษาด้านนี้มีจำนวนมาก และกว้างขวางมากกว่าเฉพาะเพียงแค่การรักษาสัตว์ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างคุณประโยชน์และช่วยเหลือสังคมได้กว้างขวางมาก จึงทำให้ประเทศไทยต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาด้านสัตวแพทย์มากขึ้น เนื่องจาก ประเทศไทยและสังคมโลกได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสวัสดิภาพและการคุ้มครองสัตว์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ และสัตว์ป่า รวมไปจนถึง การพัฒนาด้านยารักษาสัตว์ เทคโนโลยีการดูแลรักษาสัตว์ และงานวิจัยด้านสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยได้มีการตรา และบังคับใช้กฎหมาย และพระราชบัญญัติการใช้สัตว์ในทางวิทยาศาสตร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสัตว์ต่าง ๆ หลายฉบับ เพื่อพัฒนาประเทศไทยในด้านการดูแลคุ้มครองสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น สัตวแพทย์จึงนับได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความต้องการมากอาชีพหนึ่งในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับให้ก้าวสู่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ที่บูรณาการระหว่างการเรียนรู้กับการทำงานจริงในสถานประกอบการ สนับสนุนนักเรียนทุนและผู้มีความสามารถพิเศษ พัฒนาครูวิทยาศาสตร์ รูปแบบและสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย และสร้างความตระหนักของประชาชนให้เรียนรู้ คิด และทำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงจะเป็นส่วนสนับสนุนการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
- ศักยภาพความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีคณะที่เปิดสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์หลายคณะ ได้แก่ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และคณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิทยาเขตอีก 2 แห่งที่เปิดสอนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสัตวศาสตร์ ได้แก่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการประมง ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาในด้านสัตวแพทย์หลายคน มีอาจารย์และนักวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการดูแลและผลิตปศุสัตว์หลายท่าน นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าที่มีประสบการการณ์และทำงานในวงการด้านสัตวบาลในบริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐจำนวนมาก และมหาวิทยาลัยยังเครือข่ายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และสถาบันการศึกษาที่พร้อมให้การสนับสนุนการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ในด้านทรัพยากร มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีความพร้อมด้านทรัพยากรพื้นฐานในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในด้านสถานที่จัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการประชุม ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ได้มีมติอนุมัติการกำหนดพื้นที่สำหรับการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลสัตว์ไว้แล้ว โดยพิจารณาพื้นที่ติดกับถนนหลัก เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคลินิกรักษาสัตว์ได้อย่างสะดวก และในอนาคตอาจมีการพัฒนาการเรียนการสอนในส่วนที่เกี่ยวข้องไปยังมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ซึ่งมีความต้องการสัตวแพทย์ค่อนข้างสูง และในบริเวณดังกล่าวยังไม่มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านสัตวแพทย์เลย
จากความเชี่ยวชาญ และความเข้มแข็งด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งหมายรวมถึงด้านการปศุสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ นักวิจัย ศิษย์เก่า ความพร้อมของทรัพยากรพื้นฐาน และเครือข่ายหน่วยงานและสถาบันการศึกษาพันธมิตรที่พร้อมสนับสนุนด้วยนั้น ประกอบกับความมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้ง การมีส่วนช่วยในการทำงานช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสัตว์จรจัด ซึ่งสนองพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีที่ทรงมีพระประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ขึ้น โดยได้ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นด้วยในการที่มหาวิทยาลัยไทยในแต่ละพื้นที่ได้ผลิตสัตวแพทย์ออกมาเรื่อย ๆ โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อร่วมกันทำงานขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า (ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระประณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2560 ณ พระตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา)
มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้จัดทำโครงการผลิตกำลังคนด้านสัตวแพทย์ เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นมา โดยมีการขับเคลื่อนการจัดตั้งฯ อย่างต่อเนื่อง ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีมติอนุมัติโดยหลักการให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดำเนินการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2559 ซึ่งเริ่มจากการแต่งตั้งคณะทำงานวิเคราะห์กลั่นกรองการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อดำเนินการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ภายใต้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการจัดตั้งคณะฯ และโรงพยาบาลสัตว์ การออกแบบอาคาร และการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมถึง บริบทแวดล้อม และการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐด้วย
- การวิเคราะห์ความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่มีอยู่เดิม
“การเลี้ยงสัตว์” จำเป็นต้องมีผู้ดูแลจัดการและการบำรุงรักษาประกอบกันไป เพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตอย่างถูกต้อง มีความสมบูรณ์แข็งแรงและให้ผลิตผลที่ดี ดังนั้นกิจการปศุสัตว์จึงมีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง 2 วิชาชีพ ได้แก่ วิชาชีพการสัตวแพทย์และวิชาชีพสัตวบาล ซึ่งทั้งสองวิชาชีพนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อปศุสัตว์ไทย และต่างก็มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานเฉพาะส่วนของตน เพราะทั้งสองวิชาชีพนี้มีพื้นฐานทางการศึกษา การอบรม และความรับผิดชอบต่อหน้าที่แตกต่างกัน
วิชาชีพการสัตวแพทย์ คือ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาสัตวแพทย์ มีการศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ การวินิจฉัยโรค การป้องกันและรักษาโรคสัตว์ การป้องกันโรคระบาดและโรคสู่คน การใช้ยาและวัคซีนสำหรับสัตว์ และการอภิบาลสัตว์ป่วย ดังนั้น สัตวแพทย์ จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจรักษาสัตว์ การป้องกันโรคระบาดสัตว์และโรคสู่คน การกำกับดูแลด้านสุขภาพและสุขาภิบาลสัตว์ ความปลอดภัยด้านอาหารที่มีต้นเหตุหรือต้นกำเนิดมาจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานราชการ
วิชาชีพสัตวบาล คือ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาสัตวบาล สัตวศาสตร์ หรือชื่ออื่นที่มีหลักสูตรเช่นเดียวกัน มีการศึกษาค้นคว้า วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสัตว์ การจัดการ การปรับปรุงบำรุงพันธุ์สัตว์ เทคโนโลยีการขยายพันธุ์สัตว์ การกำเนิด การประกวดสัตว์ การจัดการด้านอาหารสัตว์ โภชนศาสตร์สัตว์ การจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑ์สัตว์ รวมถึง การจัดการด้านต่างๆ ที่มีผลทำให้สัตว์สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้ได้ผลิตผลดีมีคุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อนและเชื้อโรค มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยของประชาชน สัตวบาลจะไม่ทำการรักษาพยาบาลหรือการอภิบาลสัตว์ป่วย แต่จะใช้วิธีกำจัดสัตว์ป่วยออกจากฝูงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และหลักการสุขาภิบาลดังนั้น สัตวบาล จึงมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานในกระบวนการผลิตสัตว์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ สวัสดิภาพสัตว์ สุขศาสตร์และการสุขาภิบาลสัตว์ การดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการด้านการค้าสัตว์ และผลิตผลจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกัน
จากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าวิชาชีพการสัตวแพทย์และวิชาชีพสัตวบาล มีความแตกต่างกันทั้งด้านหลักสูตรการศึกษา และความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองวิชาชีพนี้ต่างก็มีความสำคัญต่อกิจการปศุสัตว์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีลักษณะการทำงานที่เกื้อหนุนต่อกันแต่ไม่อาจทำงานแทนกันได้ (ศิขัณฑ์ พงษพิพัฒน์, ปศุศาสตร์นิวส์)
มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดการเรียนการสอนในวิชาชีพสัตวบาล แต่เนื่องจาก ความแตกต่างกันของศาสตร์และการเรียนการสอนระหว่างคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี (การผลิตบัณฑิตด้านสัตวบาล) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ (การผลิตบัณฑิตด้านสัตวแพทย์) จึงทำให้ไม่สามารถหลอมรวมเป็นคณะเดียวกันได้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงขอจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และจะมีการบูรณาการการผลิตร่วมกันระหว่างทั้ง 2 คณะ ให้สามารถเกื้อหนุนในการจัดการเรียนการสอนร่วมกันได้ เพื่อให้การผลิตบัณฑิตด้านสัตวบาลและด้านสัตวแพทย์เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพในการสร้างคุณประโยชน์และพัฒนางานด้านปศุสัตว์ของประเทศไทยต่อไป
- การพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ
4.1 การสำรวจความต้องการบัณฑิตสัตวแพทย์ ด้านปศุสัตว์ และความเหมาะสมในการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการสำรวจความต้องการบัณฑิตสัตวแพทย์ ด้านปศุสัตว์ และความเหมาะสมในการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งในรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) การวิจัยเชิงปริมาณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้โดยการใช้แบบสำรวจเกี่ยวกับความต้องการบัณฑิตสัตวแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 322 ฉบับ และได้รับการตอบกลับ จำนวน 95 ฉบับ ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ, โรงพยาบาลสัตว์เอกชน/คลินิกเอกชน, บริษัทเอกชน, หน่วยงานวิสาหกิจ, สถานศึกษา และองค์กร/มูลนิธิ/สหกรณ์/สมาคม โดยผลการสำรวจทำให้มหาวิทยาลัยมีข้อมูลความต้องการลักษณะบัณฑิตสัตวแพทย์ และได้นำมาพัฒนาต่อยอดในการจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Program Learning Outcomes : PLOs) เรียบร้อยแล้ว
2) การวิจัยเชิงคุณภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอก ประกอบด้วย คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้, สำนักงานคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้, เทศบาลเมืองแม่โจ้, เทศบาลตำบลป่าไผ่, เทศบาลตำบลหนองหาร, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสันทราย, สวนสัตว์เชียงใหม่, คลินิกแม่โจ้สัตวแพทย์, บริษัท โกลด์มิลค์ฟาร์ม จำกัด, สหกรณ์โคนมแม่โจ้ จำกัด, กลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลเชียงใหม่ และผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มโคนม โดยผลการวิจัย พบว่า หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชาน และผู้ประกอบการยังเห็นว่า สัตวแพทย์ ด้านปศุสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และยังไม่กระจายไปสู่พื้นที่ ระดับอำเภอ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้เหมาะสมอย่างมากที่จะเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านสัตวแพทย์ เพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป
4.2 การหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่, ผู้แทนของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1, ผู้แทนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา แม่กวงอุดมธารา-แม่งัดสมบูรณ์ชล, ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1, ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลป่าไผ่, ผู้ช่วยกำนันตำบลป่าไผ่ และผู้ใหญ่บ้านบ้านโปง ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และศึกษาพื้นที่สำหรับการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคลินิกรักษาสัตว์ โดยผู้แทนจากทุกหน่วยงานมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ควรจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้กำหนดไว้สำหรับการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์และคลินิกรักษาสัตว์มีความเหมาะสมอย่างมาก
2) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ (นายสัตวแพทย์สาโรช งามขำ) ผู้แทนของกรมปศุสัตว์, รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะสัตวแพทยศาสตร์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.นรินทร์ อุประกรินทร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยผู้แทนของกรมปศุสัตว์และผู้แทนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ควรจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ และเห็นชอบหลักสูตรสัตวแพทยบัณฑิต มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ขับเคลื่อนการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ต่อไป